ทำความรู้จักกับ Job Description (JD) อย่างละเอียด

ทำความรู้จักกับ Job Description (JD) อย่างละเอียด

By: BestjobInTh Team | 19 สิงหาคม 2563 | 7,912 views | 145 shares


ในการสมัครงานต่างๆทั้งบนเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ หรือการวอล์คอินเข้าไปสมัครงานที่บริษัทต่างๆ ทุกๆคนจะต้องเคยเห็นคำว่า Job Description หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า JD มาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งหลายๆคนยังไม่ค่อยเข้าใจถึง JD อย่างชัดเจนนัก ว่า JD คืออะไรกันแน่ ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับ JD อย่างลึกซึ้งกัน

Job Description (JD) คืออะไร

Job Description หรือที่เรียกสั้นๆว่า JD ก็คือ คำบรรยายลักษณะงาน เป็นข้อมูลรายละเอียดที่บ่งบอกว่า ในตำแหน่งหน้าที่นี้ จะต้องทำงานอะไรบ้าง ขอบเขตหน้าที่ของความรับผิดชอบ เป็นข้อความที่สื่อให้คุณเห็นภาพว่า เมื่อคุณสมัครงานในตำแหน่งนี้แล้ว คุณจะต้องทำอะไรบ้างนั่นเอง

ในหลายๆครั้ง JD จะมาในรูปแบบของรายชื่อ บุลเล็ตต่างๆ เรียบเรียงออกมาเป็นข้อๆ จัดเรียงเอาไว้เป็นระเบียบเพื่อให้อ่านง่าย และทำความเข้าใจกับตัวงานได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็จะมีบางตำแหน่งงานที่เขียน JD ออกมาในรูปแบบข้อๆได้ยาก จึงอาจจะเป็นในรูปแบบอื่นบ้างก็มีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ

เลือกสมัครงานที่มี Job Description ละเอียดมากพอ

สำหรับผู้สมัครงานแล้ว การที่มีรายละเอียดของ JD ที่ละเอียดมากพอ จะทำให้คุณสามารถมองเห็นภาพใหญ่ได้คร่าวๆว่า งานในตำแหน่งนี้จะได้ทำหน้าที่อะไรบ้าง คุณจึงสามารถวิเคราะห์ได้ทันทีว่างานนี้เหมาะสำหรับคุณหรือเปล่า และเลือกสมัครงานได้อย่างมั่นใจนั่นเอง

แต่ในบางครั้งที่มีรายละเอียดของงานน้อยเกินไป JD ไม่เคลียร์เลย จนทำให้คุณไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ตำแหน่งงานนี้จะต้องทำอะไรบ้าง คุณก็สามารถเลือกที่จะข้ามไปดูงานอื่นๆแทนได้ แต่ในกรณีที่คุณมีความสนใจในตัวงานนั้นมากๆแล้วล่ะก็ คุณก็สามารถติดต่อเข้าไปที่ฝ่ายบุคคลเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ซึ่งฝ่ายบุคคลก็ยินดีที่จะตอบทุกคำถามที่คุณสงสัย

สำหรับฝ่ายบุคคล ทางเว็บเบสต์จ๊อบเองก็สนับสนุนให้เขียน Job Description ของแต่ละงานอย่างละเอียด เพื่อที่ท่านจะได้รับผู้สมัครงานในแต่ละงานในปริมาณที่เป็นที่พอใจ

ใครเป็นคนเขียน Job Description

ส่วนมากแล้ว 90% ขึ้นไปในแต่ละองค์กร HR หรือฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้เขียนรายละเอียด Job Description ของแต่ละตำแหน่ง แต่เนื่องจากฝ่ายบุคคลเอง ไม่ใช่ผู้ที่ลงไปสัมผัสกับงานโดยตรง ดังนั้น JD ที่ฝ่ายบุคคลเขียนขึ้นมา ส่วนมากแล้วก็จะไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวเนื้องานจริงๆถึง 100% แต่ส่วนมากแล้วก็มักจะครอบคลุมถึงประมาณ 70% - 80% ของตัวเนื้องานจริงๆ

ซึ่งในบางครั้ง หัวหน้างานก็จะมีส่วนในการเขียน JD ให้ละเอียดมากขึ้นด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและการทำงานของแต่ละองค์กร ที่แตกต่างกันออกไป ถ้าหากคุณเจองานที่เขียนอย่างละเอียดมากๆโดยหัวหน้างานแล้วล่ะก็ ถือว่าวันนี้คุณโชคดีมากเลย น่าจะสมัครงานนั้นๆครับ

ตัวอย่าง Job Description ต่างๆ

ปัญหาที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Job Description (JD)

1. Job Description ที่มากเกินไป

ในบางครั้งเราอาจจะเจอบางงานที่มี JD ที่ให้ทำตั้งแต่สากกระเบือ ยันเรือรบ เหมือนงานสำหรับคนห้าคน แล้วให้คนคนเดียวทำ แต่ได้เงินเดือนนิดเดียวเอง อันนี้ถือว่าเป็นความผิดพลาดของฝ่ายบุคคลขององค์กรนั้นๆ ที่ไม่ได้อ่านทบทวนก่อนให้ดี ในบางครั้งเป็นความผิดพลาดจากการที่ฝ่ายบุคคลไม่รู้จักคำศัพท์ทางด้านเทคนิค ซึ่งจะเกิดบ่อยในงานทางด้านวิศวกรรม และคอมพิวเตอร์เป็นต้น

แต่ถ้าหากว่าเป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับทางเทคนิค แต่มี JD ครอบจักรวาลมากเกินไป คุณก็อาจพิจารณาเลี่ยงไม่สมัครงานนี้ แล้วไปสมัครในงานอื่นๆที่มี JD ที่เหมาะสมกับความสามารถของคุณแทน

2.เข้าทำงานแล้ว แต่ JD งอก ทำอย่างไรดี

ในหลายๆครั้ง เมื่อเข้าทำงานไปจริงๆแล้ว พนักงานหลายๆคนก็เจอว่ามีงานที่ไม่ได้อยู่ใน JD มาตั้งแต่แรก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในวงการเรียกกันว่า JD งอก ก็พบเจอกันได้เป็นปกติ ด้วยเหตุผลที่ว่าฝ่ายบุคคลเป็นคนเขียน JD ซึ่งก็จะไม่ครอบคลุมในตัวเนื้องานถึง 100%

ถือว่าเป็นธรรมชาติที่องค์กรต่างๆจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งงานต่างๆอยู่เรื่อยๆ มีพนักงานเข้าและออกอยู่ตลอดเวลา และในบางครั้งคนที่ลาออกไปก็ดันเป็นคนที่เราต้องติดต่อทำงานด้วยกันอยู่ตลอดเวลา และจะมีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆว่าเมื่อพนักงานในทีมเราออกไป ก็จะยกงานของเขามาให้เราทำเพิ่มอีกด้วย แต่เงินเดือนเท่าเดิม

เมื่อเจอกรณีแบบนี้ เบสต์จ๊อบขอแนะนำว่า ก็รับมาทำเถอะครับ คนเดียวทำงานของสองคน จริงๆแล้วก็ถือว่าเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ถ้าเราสามารถทำงานได้จริงๆแล้วล่ะก็ เราก็จะมีโอกาสก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น ปลายปีถ้ามีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หรือปรับเงินเดือน คุณก็จะมีโอกาสได้ปรับมากกว่าคนอื่นในแผนก หรือในบริษัทครับ ให้ใช้โอกาสนี้ให้ดีนะ แต่ถ้าเราทำแล้วและยังไม่มีการปรับอะไรล่ะก็ การหางานใหม่อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็ได้ครับ

แต่ในกรณีที่ JD งอกมากเกินไปจนทำให้คุณไม่พอใจเป็นอย่างมากแล้วล่ะก็ คุณก็สามารถที่จะลาออกจากงานนั้นๆ แล้วสมัครงานใหม่ที่บริษัทใหม่ได้เสมอ อย่าลืมว่าชีวิตนี้เป็นของคุณ ไม่ใช่ของบริษัท และตัวคุณเองจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องของตัวเอง ด้วยตัวเอง

คำแนะนำสำหรับผู้หางานใหม่

เมื่อเราได้รู้จักกับ JD ไปอย่างละเอียดแล้ว เบสต์จ๊อบก็มีคำแนะนำสำหรับผู้สมัครงานใหม่ว่า ก่อนจะสมัครงานไหนก็ให้ดูรายละเอียดให้ดี อ่านข้อมูลต่างๆให้ครบ ทำความเข้าใจว่างานนั้นๆเหมาะกับเราหรือเปล่า และสมัครเฉพาะงานที่ตรงกับสายงานของตัวเอง อย่าสมัครหว่านข้ามสายงานหากเราไม่มีประสบการณ์ทางด้านนั้น ยกเว้นว่าบริษัทจะลงรายละเอียดไว้ชัดเจนว่ายินดีรับนักศึกษาจบใหม่

ยังไงฝากเว็บไซต์เบสต์จ๊อบเอาไว้ในดวงใจสำหรับผู้หางานใหม่ด้วยนะครับ https://bestjob.in.th คุณสามารถหาข้อมูลตำแหน่งงานว่างใหม่ๆ ที่คุณสนใจได้ที่เว็บเบสต์จ๊อบครับ หากสนใจตำแหน่งงานไหน สามารถสมัครออนไลน์ได้ทันที รู้ผลเร็วด้วยนะ

รักกัน ชอบกัน แชร์บทความนี้ให้เพื่อนได้เลยครับ


บริษัทดีๆ ที่น่าทำงานด้วย

ฝากประวัติกับ BestJob.in.th
ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

กรอกประวัติของคุณกับเว็บไซต์ BestJob.in.th วันนี้ รับแจ้งเตือนงานมาใหม่ก่อนใคร และรอรับข้อเสนอตำแหน่งงานจากบริษัทชั้นนำได้เลย!