สวัสดีครับ วันนี้ทีมงานเว็บไซท์เบสต์จ๊อบก็นำข้อมูลดีๆมาฝากกับผู้หางานอีกเช่นเคย ซึ่งคราวนี้เราจะมาพูดกันถึงเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานจริงๆ แต่พวกเราก็ยังทำพลาดให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ อย่างการส่งเรซูเม่เข้าสมัครงาน นั่นเอง
จากการที่พวกเราทีมงานเบสต์จ๊อบได้คลุกคลีกับฝ่ายสรรหาบุคลากร (ชื่อยาวเนอะ) หลังจากนี้จะขอเรียกสั้นๆว่า HR ก็แล้วกันนะครับ ซึ่ง HR หลายๆบริษัทก็เล่าให้กับทีมงานฟังอยู่บ่อยๆ หนึ่งในเรื่องที่ได้ยินผ่านหูมามากที่สุดก็ไม่พ้นเรื่องของ เรซูเม่ ที่ส่งกันเข้าไปสมัครงานนี่แหล่ะ ว่าหลายๆคนที่สมัครงานได้ส่งเรซูเม่ที่ไม่เป็นทางการเข้าไป หรือก้อปปี้กันมาต่อๆกันแล้วส่งเข้าไปเป็นต้น
ในวันนี้ทีมงานเบสต์จ๊อบก็เลยทำการรวบรวม ทิปส์สำหรับการส่งเรซูเม่เพื่อสมัครงาน ได้รวมกัน 10 ข้อพอดี จึงเอามาบอกเล่าสู่กันฟัง ให้พวกเราได้ทำตาม และใช้เป็นเช็คลิสต์สำหรับเอาไว้ตรวจทานเรซูเม่ของตัวเองก่อนส่ง เริ่มกันเลย
1. เรซูเม่ที่ดีต้องเลือกใช้ภาษาให้ถูก (ไทย/อังกฤษ)
เป็นที่รู้กันเลยครับว่า ถ้าจะสมัครงานที่ใช้วุฒิปริญญาตรีขึ้นไป หรืองานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษ ก็จะต้องเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษกัน เบสต์จ๊อบเองก็ได้เขียนรายละเอียดเรื่องนี้เอาไว้แล้วครับ ตามไปอ่านกันได้เลย เรซูเม่ภาษาอังกฤษ vs ภาษาไทย ซึ่งบริษัทหลายๆแห่งก็ใช้เรซูเม่ที่พวกเราเขียนเป็นภาษาอังกฤษกันนี่แหล่ะ เป็นตัวเช็คเบื้องต้นว่าพวกเราได้ภาษาอังกฤษกันไหม แต่ก็ไม่ต้องกลัวไปนะครับ ภาษาอังกฤษที่ใช้เขียนในเรซูเม่นี่ก็ไม่จำเป็นจะต้อง แกรมม่าร์เป๊ะเว่อร์ ใช้ศัพท์ขั้นสูง หรืออะไรเลย ขอให้เขียนด้วยคำศัพท์ง่ายๆ ที่ใครๆก็อ่านได้เข้าใจ ก็ถือว่าดีมากๆแล้วครับ
ส่วนเรซูเม่ภาษาไทยนั้น ส่วนมากจะใช้สมัครงานในตำแหน่งที่ใช้วุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีเป็นหลัก แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง บางคน บางตำแหน่งงานที่วุฒิปริญญาตรีก็สามารถสมัครงานด้วยเรซูเม่ภาษาไทยได้ แต่ก็ถือว่าน้อยกว่ากันเยอะครับ ถ้าคุณสามารถเขียนภาษาอังกฤษได้ ก็ขอให้เขียนภาษาอังกฤษไปเลยจะดีกว่ามากนะ
2. คุณภาพ มาก่อนปริมาณ
หลายๆคนที่พบมาคือ เลือกที่จะส่งเรซูเม่แบบหว่านๆ โดยที่บางครั้งก็ส่งไปสมัครงานในตำแหน่งที่ตัวเองก็ไม่ได้อยากทำ หรือตำแหน่งที่ตัวเองคุณสมบัติไม่ถึง ซึ่งตรงนี้เจอกันเยอะมาก และ HR ก็จำเป็นจะต้องปฎิเสธผู้สมัครเหล่านี้กันเยอะมาก บริษัทใหญ่ๆบางวันมีเป็นร้อยๆคนเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างให้ดูเรื่องการสมัครงานที่คุณสมบัติไม่ถึงครับ มีเด็กจบใหม่คนนึง สมัครงานตำแหน่งผู้จัดการ ที่ต้องการคนที่มีประสบการณ์ทำงานขั้นต่ำ 3 ปี ส่งใบสมัครเข้าไปที่บริษัทแห่งหนึ่ง HR บริษัทนั้นเห็น ก็เรียกเข้าไปสัมภาษณ์งานดู คิดในใจว่าเด็กคนนี้จะต้องเป็นเด็กช้างเผือกที่เก่งมากๆ และจะไปคุมพนักงานระดับปฎิบัติการจำนวน 20 ชีวิตได้อย่างแน่นอน แต่พอสัมภาษณ์พูดคุยลงลึกในรายละเอียดกัน กลับพบว่า เด็กจบใหม่คนนั้นไม่เป็นงานอะไรเลย และจะต้องให้สอนงานทุกอย่างเพราะที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนมา ซึ่งตรงกันข้ามกับที่ HR ต้องการโดยสิ้นเชิง เพราะ HR ต้องการคนที่เป็นงาน ไปสอน ไปคุมงานให้กับพนักงานระดับปฎิบัติการต่างหาก
ดังนั้นแนะนำให้ส่งเรซูเม่ไปสมัครงานเฉพาะตำแหน่งงานที่ตรงกับคุณสมบัติของเราเท่านั้น เมื่อถึงขั้นนี้แล้วจะส่งใบสมัครไปกี่ที่ก็ไม่ว่ากัน ขอให้ตรงคุณสมบัติก็พอ
3. อย่าโกหกอะไรในเรซูเม่ เพราะจะถูกจับได้
มีผู้สมัครงานจำนวนมากที่เขียนโกหกลงในเรซูเม่ อะไรที่ไม่เคยทำ ก็เขียนว่าทำได้ทั้งหมด สุดท้ายแล้วโดนจับได้ในขั้นตอนสอบสัมภาษณ์ หงอยกันไปทั้งผู้สมัครงานและ HR เชื่อเถอะครับว่าไม่มีใครอยากเสียเวลาอันมีค่าของตัวเองไปโดยเปล่าประโยชน์อย่างนี้กันหรอกนะ อะไรที่ไม่จริง ก็ไม่ต้องใส่ลงไปนะ
กลับกัน ให้ใช้การพูดความจริง เฉพาะด้านที่ดูดีแทน จะเป็นผลดีต่อตัวเรามากกว่าครับ
4. เรซูเม่ที่ดีต้องกระชับ จบได้ในหน้าเดียว
เรซูเม่คือสรุป ที่สรุปประวัติของตัวผู้สมัครงานให้จบได้ภายในกระดาษแผ่นเดียว ไม่ใช่รายงาน หรือข้อสอบส่งครู ที่เขียนเยอะๆจะมีคะแนนค่าน้ำหมึกหรอกนะครับ ยิ่งถ้าเขียนเวิ่นเว้อมากเท่าไหร่ ใส่ข้อมูลที่ไม่จำเป็นกับตำแหน่งงานมากเท่าไหร่ จะกลับเป็นผลแย่ต่อตัวผู้สมัครงานเองเสียมากกว่า
เรซูเม่ที่ดี จะต้องจบภายในหน้าเดียว หลายๆคนอาจจะมีคำถามว่า อ้าว แล้วถ้าข้อมูลเราเยอะมากเกินกว่าที่จะเขียนให้หจบภายในหน้าเดียวได้ล่ะ? คำตอบชัดๆเลยก็คือ คุณยังสรุปมันไม่พอ ยังมีข้อมูลที่ไม่จำเป็นอีกมากที่คุณยังใส่ลงไปในเรซูเม่ คุณรู้ไหมว่า สตีฟ จ๊อบส์, บิล เกตส์, อีลอน มัสก์ ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานเยอะมาก แต่พวกเขาทุกคนก็เขียนเรซูเม่หน้าเดียวกันทั้งนั้น ถ้าพวกเขาทำได้ แล้วทำไมคุณจะทำไม่ได้ล่ะ?
5. ใช้ Career Objective ที่เหมาะสมกับตำแหน่งที่สมัคร
Career objective ก็คือจุดมุ่งหมายในการทำงาน เป็นส่วนสั้นๆ 1-2 บรรทัดที่บอกว่าเราทำงานไปเพื่ออะไร ซึ่งจะต้องเหมาะสมกับตำแหน่งงานที่เราสมัคร และเหมาะสมกับตัวเองด้วย อย่างเช่น
- วิศวกร ก็อยากจะเป็นวิศวกรที่เก่ง คุมโปรเจกต์ใหญ่ๆ
- นักบัญชี ก็อยากจะเป็นนักบัญชีที่เก่ง
- นักแสดง ก็อยากเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง มีผลงานมากมาย
- เป็นต้น
อีกอย่างหนึ่งก็คือ อย่าก้อปปี้ career objective ของคนอื่นมาใส่โดยที่ไม่ได้อ่านก่อน คุณจะรู้ได้อย่างไรว่ามันตรงกับตัวคุณไหม? ถ้าในใจเรื่องนี้เพิ่มเติม คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ career objective ได้ที่บทความที่พวกเราทีมงานเบสต์จ๊อบได้เขียนกันขึ้นมาอย่างละเอียดได้
6. ใช้ Template เรียบง่าย
เรซูเม่ที่ดีจะต้องมี template ที่เรียบง่าย จัดการแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนๆให้ชัดเจน เพื่อเน้นนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้ส่วนที่เด่นคือข้อมูลที่นำเสนอ ไม่ใช่ artwork หรือความสวยงามของเรซูเม่เป็นหลัก ยกเว้นเพียงกรณีเดียวคือ ถ้าคุณเป็น graphic designer นั่นแหล่ะถึงจะต้องเน้นทำเรซูเม่ที่มีหน้าตาสวยงาม
นอกจาก template แล้วก็ให้ดูถึงเรื่องแบบตัวอักษร (font) และสีของตัวอักษรด้วย โดยให้ใช้ font ยอดนิยมทั่วไปตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็น Arial, Verdana, Microsoft Sans Serif, Cordia UPC, Angsana UPC, และอื่นๆที่ดูสุภาพ อย่าใช้ font ที่เป็นลายมือเพราะจะทำให้คุณดูเหมือนเป็นเด็กประถม ส่วนสีของตัวอักษรก็ให้ใช้สีดำ และสีเทาเข้ม เท่านั้น อย่าลืมว่าเรซูเม่ของเราไม่ได้ถูกดูบนจอเท่านั้น บางครั้งอาจจะถูกปรินท์ลงกระดาษด้วย พื้นหลังสวยๆที่ทำมา ไม่ตามไปลงกระดาษด้วย ก็พังได้นะครับ
7. ใส่รูปประจำตัวที่สุภาพเรียบร้อย
ในการใส่รูปลงในเรซูเม่มีคำพูดหนึ่งที่ทีมงานเบสต์จ๊อบพูดอยู่เสมอๆว่า "ให้ใส่รูปติดบัตร" ลงไป เพราะว่าเป็นรูปที่ดีที่สุดแล้วสำหรับการใส่ในเรซูเม่ ส่วนรูปอื่นๆนั้นถ้าเป็นรูปที่สุภาพก็ถือว่าเพียงพอแล้ว ส่วนรูปไปเที่ยว หรือรูปโพสต์ท่าเก๋ๆนั้นก็อย่าใช้เลย เอาไปลงใน IG ของตัวเองดีกว่านะครับ
ในเรื่องของรูปนี่ แนะนำให้อ่าน เทคนิคการใส่รูปลงเรซูเม่ ที่ทีมงานเบสต์จ๊อบเขียนเอาไว้อย่างละเอียดมากๆแล้วครับ ลองไปอ่านกันดูนะ แล้วคุณจะรู้ลึกและรู้จริงในเรื่องนี้
8. อ่านตรวจทานให้เรียบร้อย
เมื่อเขียนเรซูเม่เสร็จแล้ว ก็ให้อ่านตรวจทานให้เรียบร้อยก่อนด้วยตัวเองสักหนึ่งรอบก่อนส่ง เพื่อป้องกันการส่งเรซูเม่ที่มีข้อความไม่เหมาะสมออกไปให้กับ HR ครับ โดยทีมงานเบสต์จ๊อบแนะนำให้อ่านตรวจทานข้อมูลปกติหนึ่งรอบ และข้อมูลสำคัญสามรอบด้วยกัน ข้อมูลสำคัญมีดังนี้
- ชื่อ นามสกุลตัวเอง
- ข้อมูลติดต่อตัวเอง ทั้ง email และเบอร์ติดต่อ อย่าให้ผิด
- ชื่อสถานศึกษา คณะ เอก อย่าให้สะกดผิด
- ชื่อบริษัทเก่า ตำแหน่งงานที่เคยทำ ก็อย่าสะกดผิด
เมื่อตรวจทานด้วยตัวเองเรียบร้อยแล้วหนึ่งรอบ ถ้าจะให้ดีก็รบกวนให้เพื่อนที่เก่งการใช้ภาษาช่วยอ่านตรวจทานอีกรอบสุดท้าย ก็เป็นอันเสร็จแล้ว เรซูเม่ที่จะใช้ก็พร้อมที่จะส่งแล้ว
9. แปลงไฟล์เป็น PDF
นี่ถือเป็นหลุมพรางสุดท้ายก่อนส่งเรซูเม่ มีผู้สมัครงานหลายคนพลาดส่งไฟล์ .docx หรือ .doc ไปซึ่ง HR จะมองว่าผู้สมัครงานคนนี้ทำงานไม่เรียบร้อย สู้คนที่ทำเรซูเม่ของตัวเองเป็นไฟล์ PDF ไม่ได้ ก็จะเสียคะแนนในส่วนนี้ไปนิดนึง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นส่วนที่เราไม่ควรจะเสียคะแนนไปโดยไม่จำเป็นเลยนะครับ ทำเป็นไฟล์ PDF ให้เรียบร้อยก่อนส่งทุกครั้งนะ
Tip:
ให้ตั้งชื่อไฟล์เรซูเม่ของตัวเอง โดยใส่ชื่อ นามสกุล และวันที่อัพเดทล่าสุดลงไปด้วย จะทำให้เราเองก็ส่งถูกไฟล์ HR เองถ้าจะย้อนกลับมาค้นหาเรซูเม่ของเราก็หาเจอเช่นกัน ลองดูนะครับ
ตัวอย่าง: Resume-Leonel-Messi-19Oct2019.pdf
ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยของการสร้างไฟล์ PDF ก็ขอให้สร้างเป็นไฟล์ขนาด A4 และให้ไฟล์มีขนาดไม่เกิน 200kB ได้ก็จะยิ่งดีมากครับ ถ้าไม่มั่นใจเรื่องการทำขนาดไฟล์ ก็แนะนำให้ใช้ระบบสร้างเรซูเม่ของเบสต์จ๊อบครับ เพราะออกแบบมาให้ใช้งานได้ดีมากๆอยู่แล้ว ทีเดียวจบ ไม่ต้องคิดอะไรมาก สร้างเรซูเม่กับเบสต์จ๊อบคลิกที่นี่ได้เลยครับ สร้างเรซูเม่
10. เขียน Email ให้ถูกต้อง
เมื่อเราเตรียมไฟล์เรซูเม่เสร็จแล้ว ในขั้นตอนส่งก็อย่าทำพลาดกันนะครับ โดยเรามีทิปส์ต่างๆในการเขียน Email สมัครงานให้ดังนี้
- Subject ให้ใส่ชื่อตัวเอง และชื่อตำแหน่งงานที่สมัคร เช่น สมัครงานบัญชี นายสมคิด รักการงาน
- Body ให้เริ่มต้นด้วยการสวัสดีอย่างสุภาพ และต่อด้วยข้อความสรุปว่าชื่ออะไร สมัครงานตำแหน่งไหน
- อย่าใส่คำสะกดผิด นะค่ะ อะไรพวกนี้ HR ไม่ปลื้ม
- อย่าถามว่า "เมื่อไหร่จะได้คำตอบคะ" เพราะเป็นคำถามที่ไม่สุภาพ ให้เขียนไปว่า "รอคำตอบนะคะ" แทน
แค่นี้เองครับ ข้อควรรู้ทั้ง 10 ก่อนส่งเรซูเม่สมัครงาน ที่จะทำให้การสมัครงานของคุณราบลื่น และมีโอกาสได้สัมภาษณ์งานในตำแหน่งที่คุณต้องการสูงเลยทีเดียว ทีมงานเบสต์จ๊อบขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ วันนี้ลาไปก่อน สวัสดีครับ